[Knw] โรคกลัวแมว!!! มีจริงอ๊ะ???

เรื่องวันนี้มาจากเพื่อนแฟนเพจท่านหนึ่งบน Facebook ได้พิมพ์ข้อความไว้ว่า เคยได้ยินมาว่า “ฮิตเลอร์กลัวแมว” !!! 
“นอกจาก ฮิตเลอร์แล้วยังมีคนดังอีกหลายคนที่กลัวแมวนะคะ” cat-happy
ฉะนั้นวันนี้เราจะคุยกันเรื่อง โรคกลัวแมว กันค่ะ จะว่าไปน้องแมวน่ารักขนาดนี้ไม่น่าจะกลัวเลยเนอะ ว่าแต่มีโรคกลัวแมวด้วยหรอ??? ของอย่างงี้ต้องตามไปอ่านกันนะเมี๊ยววว cat_black-f

นพ.สุรชัย เกื้อศิริกุล ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ และจิตแพทย์ โรงพยาบาลมนารมย์ บอกว่า ความจริงแล้วอาการกลัวแมว(Ailurophobia) ถือเป็นอาการอย่างหนึ่งในโรคความกลัว จัดอยู่ในกลุ่มโรคกลัวเฉพาะอย่าง (Specific phobia) ซึ่งบุคคลนั้นจะมีความกลัวที่ท่วมท้นและไม่สมเหตุผล ทั้งๆ ที่รู้ว่าสิ่งนั้น ไม่น่ากลัว แต่คุมความกลัวไม่ได้เมื่อต้องเผชิญหน้ากับสิ่งหรือเหตุการณ์ที่กลัว และมีปฏิกิริยาตอบสนองทางระบบประสาทอัตโนมัติอย่างรุนแรง ทำให้มีอาการแสดงออกมาหลายอย่าง เช่น ใจเต้นเร็ว เหงื่อแตก หายใจติดขัด ตัวสั่น ปั่นป่วนในท้อง ม่านตาขยาย เป็นลม และมีท่าทางหวาดหวั่น จนถึงพยายามหลีกเลี่ยงหรือหนีออกไปจากการเผชิญหน้า

จิตแพทย์เปิดเผยว่า บุคคลที่เกิดอาการกลัวดังกล่าวมักมีประวัติว่าเคยตกใจกลัวอย่างสุดขีดกับเหตุการณ์หรือสิ่งนั้นๆในวัยเด็กหรือเคยเห็นบุคคลใกล้ชิด เช่น บิดาหรือมารดาแสดงท่าทางตกใจหรือหวาดกลัวกับสิ่งนั้นมาก่อน ทำให้เกิดความทรงจำหรือฝังใจด้านลบกับสิ่งที่กลัวและอาจทำให้ศูนย์ควบคุมอารมณ์บางแห่งในสมอง เช่น อมิกดาลา (Amygdala) ทำงานไวกว่าปกติ ซึ่งจากข้อมูลหลักฐานพบว่าแม้แต่บุคคลที่มีชื่อเสียงหลายท่านอย่าง จูเลียส ซีซาร์ แห่งจักรวรรดิโรมัน จักรพรรดินโปเลียน แห่งฝรั่งเศส จักรพรรดิเจงกีสข่าน แห่งจีน อดอล์ฟฮิตเลอร์ ผู้นำเยอรมัน และนักร้อง ลาโทย่า แจ็คสัน ต่างก็มีอาการกลัวแมวเช่นกัน  cat-emo-shock

ตามทฤษฎีจิตวิเคราะห์ สิ่งที่กลัวเป็นเพียงสัญลักษณ์หรือตัวแทนที่แสดงออกมาให้รับรู้ และอาจช่วยให้สืบค้นสาเหตุไปถึงสิ่งที่กลัวอย่างแท้จริงในจิตใต้สำนึก (Unconsciousness) ที่บุคคลนั้นไม่ตระหนัก เช่น คนที่กลัวม้า ม้าอาจเป็นสัญลักษณ์ถึงบุคคลที่มีอำนาจในชีวิตของเขาคือบิดาก็ได้ นอกจากคนกลัวแมวแล้วยังมีอีกหลายคนที่กลัวสัตว์หรือแมลงชนิดต่างๆ เช่น กลัวไก่ (Alektorophobia) กลัวแมงมุม (Arachnophobia) กลัวผึ้ง (Melissophobia) บางคนกลัวธรรมชาติแวดล้อม เช่น กลัวความสูง ลมพายุ บางคนกลัวเหตุการณ์หรือสิ่งที่อยู่รอบตัว เช่น อุโมงค์ รถไฟ เครื่องบิน ลิฟต์ กลัวเลือดและเข็มฉีดยา หรือแม้กระทั่งเด็กหลายคนที่มักจะกลัวความมืด เป็นต้น

สำหรับการช่วยเหลือคนที่มีอาการกลัวแมวหรือกลัวสิ่งต่างๆ นั้น นพ.สุรชัย ได้ให้ข้อแนะนำว่า การรักษาโรคกลัวที่เฉพาะเจาะจงกับบางสิ่งบางอย่าง มักจะใช้วิธีการทำพฤติกรรมบำบัด ซึ่งได้รับความนิยม โดยเฉพาะการทำพฤติกรรมบำบัดแบบการเผชิญหน้า (Exposure) กับสิ่งที่กลัว  cat_yellow1-f

แต่ก่อนการเผชิญหน้าผู้ป่วยควรได้รับการฝึกหรือเรียนรู้เทคนิคทางการผ่อนคลายตนเอง (Relaxation) เพื่อควบคุมอารมณ์และการตื่นตัวของประสาทอัตโนมัติ การเผชิญความกลัวอาจเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป จากสิ่งที่กลัวน้อยที่สุดไปหามากที่สุด หรือเริ่มจากการจินตนาการก่อนไปถึงสัมผัสของจริง

สำหรับวิธีบำบัดพฤติกรรมที่สามารถฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง หรือพ่อแม่ผู้ปกครองสามารถสอนลูกได้ก็คือการฝึกหายใจ เพื่อลดความกลัว และผ่อนคลาย โดยให้หายใจเข้าทางจมูก จากนั้นก็กักลมหายใจไว้ในปอด นับ 1-4 แล้วจึงค่อยๆ ผ่อนลมหายใจออกทางปากช้าๆ พร้อมกับนับ 1-7 จากนั้นให้เว้นประมาณ 2 วินาที ก่อนจะฝึกหายใจในจังหวะเดิมซ้ำอีกครั้ง อีกวิธีคือการออกกำลังกายด้วยการเดินอย่างกระฉับกระเฉง ซึ่งจะช่วยเผาผลาญออกซิเจนส่วนเกิน และทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะสมดุลขึ้น

นอกจากนี้การบำบัดพฤติกรรมของคนที่มีความกลัวอาจมีการใช้ยาไปด้วยพร้อมๆ กัน ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ที่เห็นว่ามีความจำเป็น ซึ่งไม่ได้เป็นการสอนให้ต่อสู้กับความรู้สึกของตัวเอง แต่เป็นการจัดระบบความคิดให้สามารถมองโลกในมุมใหม่ ซึ่งหลักๆ แล้วก็คือ การสอนให้รู้จักปล่อยวางและไม่เอาจริงเอาจัง หรือเคร่งเครียดกับสิ่งละอันพันละน้อยที่ต้องเผชิญในชีวิตประจำวัน ให้มากจนเกินไปนัก และเมื่อเกิดการเรียนรู้ที่จะผ่อนคลายจิตใจ ก็จะได้ความสงบทางร่างกายเป็นผลสืบเนื่องตามมา

ขอขอบคุณ
นพ.สุรชัย เกื้อศิริกุล ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ และจิตแพทย์ โรงพยาบาลมนารมย์

Image source :
ewallpapers.eu 

 

 

catikelove- mascot