ใช่ว่าแมวผอมแล้วจะสุขภาพดี (แมวอ้วนก็เช่นกัน) การดูแลให้น้องแมวมีสุขภาพดีเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับคนรักแมว เมื่อไหร่ก็ตามที่สังเกตเห็นน้องแมวซูบผอมลงอย่างเห็นได้ชัด แสดงว่าต้องมีอะไรผิดปกติเกิดขึ้นกับน้องแมวอย่างแน่นอน!!
CatLikeLove จะพาเพื่อนๆ มารู้จักกับสาเหตุที่ทำให้น้องแมวน้ำหนักลดกันเมี๊ยว

เมื่อสังเกตเห็นว่าน้องแมวมีน้ำหนักตัวลดลง ให้สังเกตการกินอาหารก่อน เพราะการที่แมวกินอาหารปกติแต่น้ำหนักลดลง กับแมวที่กินอาหารลดลงแล้วทำให้น้ำหนักลดลงนั้นมีสาเหตุที่ต่างกัน

อาการน้ำหนักลดในแมวเกิดจากอะไรบ้าง

กรณียังกินอาหารได้อย่างปกติ

  • โรคความผิดปกติของฮอร์โมน เช่น เบาหวาน (diabetes mellitus) โรคฮอร์โมนไทรอยด์สร้างมากกว่าปกติ (hyperthyroidism) โรคแอดดิสัน (Addison’s disease)
  • ความผิดปกติในการย่อยและดูดซึมอาหาร (malassimilation syndrome) ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติในการสร้างเอนไซม์ย่อยอาหาร เช่น โรคของตับ และตับอ่อน หรือความผิดปกติในกระบวนการดูดซึม เช่น โรคภูมิคุ้มกันทำลายเยื่อบุผนังลำไส้ (inflammatory bowel disease) หรือมีปรสิตในทางเดินอาหาร ซึ่งทำให้เกิดกลุ่มอาการสูญเสียโปรตีนจากทางเดินอาหาร (protein-losing enteropathy)
  • ปัญหาของโรคไต ทำให้มีการสูญเสียโปรตีนทางปัสสาวะ (protein-losing nephropathy)
  • การสูญเสียโปรตีนจากผิวหนัง ซึ่งมักพบได้ในรายที่ถูกไฟไหม้
  • เป็นมะเร็ง (cancer) ที่แย่งสารอาหารของสัตว์

กรณีที่มีการกินอาหารลดลง

  • การติดเชื้อ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา ที่ทำให้เกิดอาหารมีไข้ และทำให้เกิดอาการเบื่ออาหารตามมา
  • ปัญหาทางเดินอาหารทำให้แมวเกิดอาการไม่อยากอาหาร
  • โรคตับหรือโรคไต ที่ทำให้เกิดการสะสมของของเสียในร่างกายและไปรบกวนการทำงานของสมอง
  • โรคของระบบประสาทโดยเฉพาะสมองที่ทำให้เกิดอาการเบื่ออาหารโดยตรง

ขั้นตอนการวินิจฉัย

เนื่องจากสาเหตุของการเกิดอาการน้ำหนักตัวลดสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุมาก ดังนั้นสัตวแพทย์จำเป็นที่จะต้องซักประวัติเจ้าของร่วมกับการตรวจร่างกายอย่างละเอียด แต่ก็อาจจะต้องใช้เครื่องมือในการตรวจวินิจฉัยอีกมาก ดังนี้

  • การตรวจอุจจาระ เพื่อหาร่องรอยการติดเชื้อ หรือการย่อยอาหารไม่สมบูรณ์
  • การตรวจเลือด เพื่อตรวจค่าความผิดปกติของเม็ดเลือดต่างๆ หาพยาธิในเม็ดเลือด และดูค่าการทำงานของตับและไต รวมถึงตรวจระดับน้ำตาลในเลือด
  • การตรวจปัสสาวะ เพื่อดูการทำงานของไต และการเป็นเบาหวานหรือมีน้ำตาลในปัสสาวะ
  • การตรวจฮอร์โมน เพื่อดูความผิดปกติเช่น เบาหวาน ไทรอยด์ และฮอร์โมน cortisol ในร่างกายแมว
  • ภาพถ่ายรังสี (X-ray) เพื่อดูลักษณะของอวัยวะในช่องท้อง หัวใจและปอด
  • การทำอัลตร้าซาวด์ เพื่อตรวจดูอวัยวะในช่องท้อง
  • การผ่าเปิดเพื่อตรวจสอบช่องท้อง (explorative laparotomy)
  • การใช้ชุดตรวจพิเศษ เพื่อวัดระดับเอนไซม์ที่ใช้ในการย่อยอาหารของตับอ่อน หรือตรวจหาการติดเชื้อพยาธิหนอนหัวใจและไวรัสเอดส์-ลิวคีเมีย
การรักษา

การรักษาอาการน้ำหนักลดเป็นไปตามสาเหตุที่เกิดขึ้นและจำเป็นต้องได้รับการตรวจละเอียดจากสัตวแพทย์ก่อน การได้รับยา การผ่าตัด ร่วมกับการควบคุมอาหารให้เหมาะสมจะสามารถช่วยรักษาอาการผิดปกติได้ ในบางครั้งอาจจำเป็นต้องได้รับยาที่ช่วยในการอยากอาหาร เพื่อกระตุ้นให้แมวอยากกินอาหารในกรณีที่แมวมีอาการเบื่ออาหาร

ขอบคุณบทความดีๆ จาก
HonestDocs

Image source :
catster

catikelove- mascot