เพื่อนๆ หลายคนที่เลี้ยงแมวคงเคยเห็นว่าอยู่ดีๆ แมวก็อ้วก!!! หลายคนอาจจะตกใจคิดว่าแมวไม่สบายหรือเปล่า ทำยังไงดี ต้องรีบพาไปหาสัตวแพทย์หรือเปล่า?? บางทีน้องแมวก็แค่แหวะก้อนขนออกมา
CatLikeLove จะพาเพื่อนๆ มาวนเวียนอยู่กับเรื่องอ้วกน้องเหมียว ที่ต้องระวังกันนะคะ

ในธรรมชาตินั้นแมวสามารถอาเจียนออกมาได้เป็นเรื่องปกติ ถ้าเผลอไปกินอะไรที่ระคายเคืองระบบอาหาร แต่ถ้าพบว่าน้องแมวอาเจียนอย่างต่อเนื่องไม่หยุด อาจจะแปลว่าน้องแมวเกิดภาวะผิดปกติ ควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์โดยเร็ว

อาการ
โดยส่วนใหญ่แล้วแมวที่อาเจียนรุนแรงอย่างฉับพลันมักจะมีอาการดังต่อไปนี้

  • อ่อนแรง
  • อาเจียนอย่างต่อเนื่อง
  • แสดงท่าทางทรมานหรือเจ็บปวด
  • บางครั้งอาจจะอาเจียนออกมามีเลือดปนหรืออุจจาระออกมาเป็นเลือดสด
  • บางครั้งอาจพบว่าในอาเจียนมีเลือดสีดำคล้ำอยู่ หรืออาจพบในอุจจาระด้วยก็ได้

สาเหตุ
สาเหตุที่ทำให้แมวเกิดการอาเจียนอย่างฉับพลันนั้นมีดังต่อไปนี้

  • เนื้องอกหรือมะเร็ง
  • ภาวะลมแดด (heat stroke)
  • โรคตับ
  • ระบบย่อยอาหารเกิดการอักเสบ
  • มีการเปลี่ยนสูตรอาหาร
  • ลำไส้อุดตัน
  • ตับอ่อนอักเสบ
  • ภาวะอาหารเป็นพิษ / ได้รับอาหารที่ไม่เหมาะสม
  • กินเร็วเกินไป
  • เกิดการแพ้อาหารบางชนิดที่กินเข้าไป
  • มีความผิดปกติที่ต่อมหมวกไต
  • เกิดภาวะระบบย่อยอาหาร โดยเฉพาะอาหารอยู่ผิดที่ (จากอุบัติเหตุ หรืออื่นๆ )
  • หลอดอาหารอุดตัน
  • การเผาผลาญอาหารในร่างกายมีความผิดปกติจากโรคอื่นๆ เช่น โรคไต เป็นต้น

แนวทางการวินิจฉัย
ถ้าพบว่าน้องแมวอาเจียนอย่างต่อเนื่องและรุนแรง ให้รีบพาน้องแมวไปพบสัตวแพทย์โดยเร็ว และอย่าลืมเก็บตัวอย่างอาเจียนติดมือไปด้วย โดยสัตวแพทย์จะทำการตรวจเช็กร่างกายเบื้องต้น ตรวจสอบช่องท้อง สอบถามประวัติเพื่อค้นหาสาเหตุ เพราะบางครั้งการอาเจียนอาจไม่ใช่เกิดจากโรคเพียงอย่างเดียว แต่อาจเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุหรือสาเหตุที่ไม่คาดคิด เช่น กินสารพิษ

ถ้าในอาเจียนของน้องแมวมีเมือกมากอาจจะแสดงว่าสาเหตุเกิดขึ้นจากลำไส้อักเสบ ถ้าพบว่าในอาเจียนมีอาหารที่ยังไมได้ย่อย อาจหมายถึงว่าภาวะอาเจียนเกิดจากอาหารเป็นพิษ ภาวะเครียดจัด หรือแค่กินมากเกินไป แต่ถ้าพบว่าแมวอาเจียนออกมาเป็นน้ำดี อาจแสดงว่าแมวมีปัญหาเกี่ยวกับตับอ่อนอักเสบหรือลำไส้อักเสบได้

ในกรณีที่พบว่าในอาเจียนมีเลือดสดๆ สีแดงปนมาด้วย อาจเป็นไปได้ว่าน้องแมวมีแผลในกระเพาะอาหาร แต่ถ้าเลือดที่ออกมาเป็นสีน้ำตาลดำหมายความว่าอาจเป็นแผลที่ลำไส้แทน รวมไปถึงอาการอาเจียนนั้นอาจเกิดขึ้นจากการอุดตันของทางเดินอาหาร โดยเฉพาะหลอดอาหารได้เช่นกัน ในกรณีที่แมวบางตัวมีภาวะต่อมทอนซิลอักเสบจนขยายขนาดก็อาจทำให้หลอดอาหารอุดตันได้เช่นกัน

แนวทางการรักษา
ขึ้นอยู่กับสาเหตุว่าเกิดขึ้นจากอะไร แต่หลักๆ มีดังต่อไปนี้

  • เปลี่ยนอาหาร
  • ให้ยาต้านอาเจียน
  • ให้ยาต้านแบคทีเรีย ในกรณีที่เกิดขึ้นจากมีแผลในกระเพาะอาหารแล้วติดเชื้อ
  • ให้สเตียร์รอยด์ในกรณีที่ลำไส้มีการอักเสบ
  • ทำการผ่าตัดในกรณีที่อาเจียนจากเนื้องอกหรือมีสิ่งแปลกปลอมอุดตันทางเดินอาหาร
  • การทำคีโม หรือ Chemotherapy ในแมวก็สามารถกระตุ้นให้น้องแมวเกิดการอาเจียนได้เช่นกัน

แนวทางการจัดการและดูแลเบื้องต้น
ถ้าพบว่าน้องแมวอาเจียนอย่างต่อเนื่องและรุนแรงให้รีบพาไปพบสัตวแพทย์และปฏิบัติตามแนวทางการรักษาของสัตวแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ควรให้แมวลองกินยาหรืออาหารอื่นๆ เองโดยเด็ดขาด โดยเฉพาะการให้ยาในมนุษย์กับแมวนั้นอาจทำให้แมวถึงกับเสียชีวิตได้ในทันที รวมไปถึงบางคนมีความเชื่อว่าให้แมวลองกินหญ้าหรือใบไม้เพื่อล้างพิษ อันนี้ก็ไม่ถูกต้องเช่นกัน ถ้าแมวอาเจียนไม่ควรให้กินหญ้าหรือต้นไม้อื่นๆ เด็ดขาด และถ้าพบว่าน้องแมวอาเจียนอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานควรระวังถึงภาวะขาดน้ำร่วมด้วย โดยอาจจะค่อยๆ ให้ใช้หลอดฉีดยาค่อยๆ ป้อนน้ำเข้าในปากแมวทีละน้อย แล้วสังเกตว่าแมวอาเจียนออกมาหรือไม่ ถ้าแมวอาเจียนควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์โดยเร็วเพื่อให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำแก้ไขต่อไป

Source :
Cat magazine

Image source :
petmd

catikelove- mascot