เจ้าสิ่งมีชีวิตตัวจิ๋วที่อาศัยอยู่ในขนของน้องแมว คอยสูบกินเลือด ทำให้คันถึงขนาดเกาจนเป็นแผล สิ่งมีชีวิตจอมวายร้ายตัวจิ๋วตัวนี้ก็คือ “หมัด (flea)” ฟังเกริ่นมาอาจจะดูน่ากลัวไปบ้าง แต่ไม่ต้องเป็นห่วงนะคะ วันนี้ CatLikeLove จะมาช่วยเพื่อนขจัดเจ้าหมัดจอมวายร้ายนี่เอง
อันดับแรกเราต้องตรวจดูอาการกันก่อน ถ้าเห็นแมวมีอาการคันผิดปกติ ก็ให้ใช้หวีที่มีซี่ถี่ ๆ หรือหวีเสนียด หวีขนแมวดู หากพบว่ามีก้อนเล็ก ๆ สีดำติดหวี หรือตกลงมาที่พื้น เมื่อเอาก้อนนี้ไปวางไว้บนกระดาษชำระที่ซับน้ำให้เปียกแล้วเกิดสีแดงเรื่อ ๆ ซึมออกมาแสดงว่าก้อนนั้นคือ “ขี้หมัด” โดยสีแดงที่ซึมออกมานั้นก็คือเลือดที่หมัดกินจากตัวเจ้าเหมียวไปนั่นเอง หากเราหวีขนแมวแล้วพบขี้หมัด เราต้องเริ่มควบคุมและกำจัดหมัดที่มีบนตัวเจ้าเหมียวได้แล้ว เพราะ หมัดไม่ได้ทำให้แมวคัน และ ระคายเคืองเท่านั้น แต่มันยังเป็นพาหะนำโรคและพยาธิอีกด้วย
โรคที่เกิดจากหมัด
โลหิตจาง แมวที่มีหมัดเป็นจำนวนมากในร่างกายอาจเกิดภาวะโลหิตจาง เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้โดยเฉพาะในลูกแมว สังเกตอาการได้จากสีเหงือกจะซีด ซึ่งเจ้าของควรสังเกตสีเหงือกเป็นประจำ ลูกแมวที่พบว่ามีหมัดควรรีบทำการรักษาและดูแลเรื่องพยาธิควบคู่ไปด้วย โรค Haemobartonellosis สาเหตุการเกิดโลหิตจางในแมวอีกหนึ่งสาเหตุมาจากไมโครออร์กานิซึมที่มีหมัดเป็นพาหะ นั่นคือ H.felis ในแมว สามารถตรวจโรค Haemobartonellosis ได้จากการส่งเลือดแมวที่สงสัยว่าจะป่วยไปยังห้องปฏิบัติการ และให้การรักษาโดยการให้ยาปฏิชีวนะ ยากลุ่มสเตียรอยด์ ในกรณีที่ป่วยหนักอาจต้องทำการถ่ายเลือดเพื่อรักษาชีวิต
วงจรชีวิตของหมัด
หมัดมีวงจรชีวิตเหมือนกับผีเสื้อ โดยแบ่งออกเป็น 4 ช่วง ดังนี้
1. ไข่หมัด จะออกไข่บนตัวโฮสต์ที่มันไปอาศัยอยู่ และจะอาศัยอยู่จนครบวงจรชีวิต ส่วนไข่ฟองอื่นๆ ก็จะตกลงบนสิ่งแวดล้อมบริเวณรอบๆ เช่น บนพรม ที่นอนเจ้าเหมียว หรือแม้กระทั่งที่นอนของคุณเอง
2. ตัวอ่อน หลังจากที่ฟักออกจากไข่แล้วตัวอ่อนจะกินขี้หมัดจากตัวเต็มวัย แล้วพัฒนาตัวต่อไปอีกประมาณ 1 สัปดาห์
3. ดักแด้ เช่นเดียวกับในผีเสื้อ ดักแด้จะสร้างสิ่งห่อหุ้มตัวเอง และเตรียมพัฒนาต่อไปเป็นตัวเต็มวัย
4. ตัวเต็มวัย ตัวเต็มวัยจะหากินบนตัวโฮสต์ที่ไปอาศัยอยู่มีการผสมพันธุ์ และเริ่มวงจรชีวิตใหม่อีกครั้ง
การกำจัดหมัด
1.วิธีกำจัดหมัดในขั้นแรก ในกรณีที่มีหมัดบนตัวเป็นจำนวนมาก ให้หวีขนแมวและอาบน้ำด้วย แชมพูสำหรับกำจัดหมัด
2.เมื่อลดจำนวนหมัดบนตัวได้แล้ว ให้ใช้วิธีป้องกันด้วยผลิตภัณฑ์สำหรับควบคุมหมัด การหวี ใช้หวีซี่ถี่ ๆ หรือหวีเสนียด หวีให้ทั่วทั้งตัวแมว เตรียมชามหรือโถที่ใส่แอลกอฮอล์หรือสารซักฟอกไว้ เมื่อหวีแล้วให้สลัดหวีใส่ในชามหรือโถที่เตรียมไว้
3.การอาบน้ำ จะช่วยกำจัดเศษขี้หมัด และตัวหมัดที่ยังเหลืออยู่บนตัว โดยใช้แชมพูสำหรับกำจัดหมัด หรือน้ำยาจุ่มสำหรับกำจัดหมัด ผลิตภัณฑ์สำหรับกำจัดหมัด ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์สำหรับกำจัดหมัดอยู่หลายชนิด โดยการหยดหลัง ควรปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อใช้ผลิตภัณฑ์ให้ถูกต้อง
แค่นี้เจ้าหมัดวายร้ายก็จะไม่มากวนใจคุณและน้องแมวอีกค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก
หนังสือ Cat magazine